รู้ทันมิจฉาชีพ รวมกลโกง แก๊งคอลเซ็นเตอร์

Category ความรู้ด้านการเงิน
รู้ทันมิจฉาชีพ รวมกลโกง แก๊งคอลเซ็นเตอร์
19 มีนาคม 2568
รู้ทันมิจฉาชีพ รวมกลโกง แก๊งคอลเซ็นเตอร์

รู้ว่ามี แต่หาไม่เจอ ไม่ใช่ทั้งผีและเธอ แต่เป็นเหล่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่ยังคงวนเวียนทำตัวเป็น มิจฉาชีพ มาหลอกกันตอนกลางวันแสกๆ และที่น่ากลัวไปกว่านั้น รูปแบบที่กลุ่มคนเหล่านี้ใช้ก็เต็มเปี่ยมไปด้วยทักษะและเทคนิคอันแพรวพราว

ปัจจุบัน แก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้พัฒนาเทคนิคในการโกงให้แนบเนียนขึ้นเรื่อย ๆ จากการอาศัยช่องโหว่ของความไม่รู้และความกลัวของเหยื่อ มาหลอกลวงเพื่อหวังผลประโยชน์  แม้ว่าจะมีข่าวเตือนภัยมากมาย แต่ก็ยังคงมีผู้เสียหายออกมาให้เห็นจำนวนมาก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังคงมีผู้ตกเป็นเหยื่ออยู่เสมอ ถึงไม่เจอกับตัวเอง แต่คนใกล้ตัวก็ต้องเคยพลาดกันมาบ้าง

ไม่ว่าคุณจะเตรียมตัวรับมืออย่างดีแค่ไหนก็ตาม หากคุณไม่อยากตกเป็นเหยื่อ มารู้ทันกลโกงของ มิจฉาชีพ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่หลอกลวงคล้ายกับการร่ายเวทย์มนตร์ให้เหยื่อหลงเชื่อ จนทำให้ถึงกับเสียทรัพย์ได้แม้จะไม่รู้จักกัน  

แต่ก่อนจะไปรู้ทันกลโกง แนะนำให้ทุกคนมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำจำกัดความของ มิจฉาชีพ ในรูปแบบของ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งวิธีการของกลุ่มนี้ มักทำเป็นขบวนการ และจะหลอกเหยื่อผ่านทางโทรศัพท์ โดยใช้การแอบอ้าง เป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่าง ๆเช่น เจ้าหน้าที่ธนาคาร บริษัทขนส่ง หรือหน่วยงานรัฐ ด้วยการใช้ข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อมาอ้างอิง เพื่อให้ดูมีความน่าเชื่อถือ พร้อมกับหว่านล้อมให้เกิดความกลัว วิตกกังวล หรือลังเลในการตัดสินใจ จนบางครั้งคุณอาจเผลอ โอนเงินไปโดยไม่ทันตั้งตัว

5 กลโกงยอดฮิต มิจฉาชีพ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ พร้อมวิธีป้องกันในการเรียกสติเบื้องต้น เพื่อไม่ให้เผลอตกเป็นเหยื่อ จะมีอะไรบ้างไปดูกัน!

 

 

1. อ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ แจ้งว่าคุณมีคดีความ

มิจฉาชีพ มักแอบอ้างเป็นตำรวจ ศาล หรือ DSI โทรมาแจ้งว่าคุณมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีการฟอกเงินหรือยาเสพติด และข่มขู่ว่าหากไม่รีบโอนเงินมาเพื่อตรวจสอบบัญชี อาจถูกจับกุม

วิธีป้องกัน: อย่าตกใจง่ายๆ หน่วยงานรัฐจริงๆ จะไม่มีการแจ้งข้อหาผ่านโทรศัพท์ หากสงสัยให้ติดต่อหน่วยงานนั้นโดยตรง

 

2. อ้างว่าเป็นพนักงานธนาคาร แจ้งธุรกรรมต้องสงสัย

พวก มิจฉาชีพ อาจปลอมตัวเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร แจ้งว่ามีการทำธุรกรรมผิดปกติในบัญชีของคุณ และขอให้คุณให้ข้อมูลส่วนตัว เช่น เลขบัญชี รหัส OTP หรือแม้กระทั่งให้โอนเงินไปยังบัญชี "ปลอดภัย" ของธนาคาร

 

วิธีป้องกัน: ธนาคารไม่มีนโยบายขอรหัสผ่าน หรือให้ลูกค้าโอนเงินเพื่อตรวจสอบใดๆ หากมีข้อสงสัย ควรติดต่อธนาคารด้วยตัวเองผ่านเบอร์โทรศัพท์ที่ระบุบนเว็บไซต์ทางการ

 

3. หลอกให้กดลิงก์ปลอมเพื่อขโมยข้อมูล

อีกรูปแบบที่พบบ่อยคือการส่ง SMS หรืออีเมลปลอม อ้างว่าเป็นธนาคาร หรือบริษัทขนส่ง และให้คุณกดลิงก์เพื่อตรวจสอบพัสดุ หรือลงทะเบียนรับสิทธิพิเศษ เมื่อลิงก์ถูกกด ระบบจะนำคุณไปยังหน้าเว็บไซต์ปลอมและขโมยข้อมูลสำคัญของคุณไป

วิธีป้องกัน: อย่ากดลิงก์ที่น่าสงสัย! หากต้องการตรวจสอบข้อมูล ควรเข้าไปที่เว็บไซต์หลักของบริษัทโดยตรง

 

4. ญาติสนิท มิตรสหาย กำลังเดือดร้อน ต้องการเงินด่วน

พวก มิจฉาชีพ มักใช้วิธีปลอมไลน์ หรือเฟซบุ๊กของคนใกล้ชิดคุณ ส่งข้อความมาขอยืมเงินโดยอ้างว่ากำลังเดือดร้อน เช่น ประสบอุบัติเหตุ หรือทำกระเป๋าเงินหาย

วิธีป้องกัน: ก่อนโอนเงิน ตรวจสอบให้แน่ใจโดยโทรหาบุคคลนั้นโดยตรง หรือถามคำถามที่มีแค่คุณสองคนเท่านั้นที่รู้คำตอบ

 

5. คุณ คือ ผู้โชคดี หลอกว่าได้รับรางวัลใหญ่  

อีกหนึ่งกลโกงที่ยังมีอยู่คือ มิจฉาชีพ จะแจ้งว่าคุณได้รับรางวัลใหญ่ เช่น รถยนต์ หรือเงินสดจำนวนมาก แต่มีเงื่อนไขว่าต้องโอนเงินค่าธรรมเนียมหรือภาษีก่อนถึงจะได้รับรางวัล

วิธีป้องกัน: จำไว้ว่า "ของฟรีไม่มีในโลก" บริษัทที่แจกของรางวัลจริงจะไม่มีนโยบายให้โอนเงินก่อน

 

*หมายเหตุ เพื่อไม่ให้ มิจฉาชีพ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของคุณได้ยากขึ้น  ทั้งชื่อ นามสกุล เบอร์โทร เลขที่บัญชี ที่อยู่ แนะนำให้ระวังสิ่งนี้

 

• การคลิกลิงก์: ถ้าไม่ใช่ลิงก์ที่คุ้นเคย หรือมีแหล่งที่มาชัดเจน แนะนำให้เลื่อนผ่าน เพราะการคลิกลิงก์ที่มาจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ อาจทำให้ มิจฉาชีพ แฝงมัลแวร์หรือโปรแกรมดักจับข้อมูลไว้ในอุปกรณ์ของคุณ

• การกรอกแบบฟอร์ม: ถ้าไม่ใช่ข้อมูลหรือแบบฟอร์มที่สนใจ หรือ การกรอกแบบฟอร์มที่มากเกินความจำเป็น แนะนำให้เช็กให้ดีก่อนกรอกข้อมูลส่วนตัวลงในแบบฟอร์มออนไลน์ เพราะข้อมูลที่ไม่ได้อยู่ในเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือ อาจถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด

• การยินยอมสมัครใช้บริการ: บางครั้งคุณอาจเผลอให้ข้อมูลส่วนตัวกับ มิจฉาชีพ โดยการสมัครใช้บริการหรือเข้าร่วมกิจกรรมบางอย่าง โดยไม่ทันอ่านรายละเอียดให้ละเอียด

 

สรุป: วิธีป้องกันตัวเองจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์

มีสติ อย่าตกใจเมื่อได้รับสายแปลกๆ

อย่าให้ข้อมูลส่วนตัวกับใครง่ายๆ

ตรวจสอบข้อมูลจากแหล่งที่น่าเชื่อถือก่อนโอนเงิน

ตั้งค่าความปลอดภัยเพิ่มเติม เช่น การแจ้งเตือนธุรกรรมของธนาคาร

แจ้งตำรวจหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหากพบพฤติกรรมต้องสงสัย

การรู้ทันและไม่ตกเป็นเหยื่อของแก๊งคอลเซ็นเตอร์เป็นเรื่องสำคัญ แชร์บทความนี้ให้คนใกล้ตัวของคุณเพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อของกลโกงเหล่านี้!

 



อ้างอิงข้อมูลจาก https://www.bot.or.th/th/satang-story/fraud/call-center.html