ทำความรู้จักเครดิตบูโร

Category ความรู้ด้านการเงิน
ทำความรู้จักเครดิตบูโร
06 พฤศจิกายน 2567
ทำความรู้จักเครดิตบูโร

ไขข้อข้องใจ หากมีประวัติค้างชำระ กู้เงินได้หรือไม่?
ทุกคนต่างฝันที่จะมีทรัพย์สินเป็นของตัวเองไม่ว่าจะเป็น อสังหาริมทรัพย์ มีธุรกิจส่วนตัวได้เป็นเจ้านายตัวเองหรือเป็นคนอายุน้อยร้อยล้าน แม้แต่ต้องการมีอิสรภาพทางการเงินให้ได้จับจ่ายใช้สอยในยามฉุกเฉิน การขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินจึงเป็นทางเลือกแรกที่ทุกคนทำกัน แต่เมื่อเริ่มมีการขอสินเชื่ออะไรก็ตามทำไมต้องเช็ค ‘เครดิตบูโร’ ซึ่งจะมีความสำคัญแค่ไหนกันนะ? ใครที่กำลังสงสัยและตั้งคำถามเดียวกัน มาหาคำตอบได้ในบทความนี้กันค่ะ
 


เครดิตบูโรคืออะไร
เครดิตบูโร คือ คำเรียกกันอย่างติดปากของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ถูกจัดตั้งขึ้นจากการหารือกันของสมาคมธนาคารไทยกับธนาคารแห่งประเทศไทยว่าต้องการให้มีศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลของธนาคารพาณิชย์ โดยทำหน้าที่หลักเป็นแหล่งข้อมูลศูนย์กลางในการเก็บรักษาข้อมูลบัญชีสินเชื่อและประวัติการชำระสินเชื่อทุกประเภทที่จะสามารถแสดงได้ถึงพฤติกรรมการใช้เงิน ความสามารถในการชำระหนี้รายบุคคล เพื่อป้องกันความเสียหาย ลดความเสี่ยงในการกู้เงินที่สถาบันการเงินอาจได้รับในอนาคตหากตัดสินใจอนุมัติสินเชื่อให้กับบุคคลนั้นแล้ว ซึ่งข้อมูลเครดิตนี้นั้นจะได้มาจากสถาบันการเงินในประเทศรวมไปถึงบริษัทที่เป็นสมาชิก 
เมื่อมีการยื่นขอสินเชื่อไม่ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเป็นสถาบันการเงินหรือบุคคลที่ยื่นคำขอก็สามารถเรียกดูรายงานข้อมูลเครดิตนี้ได้ หรือที่เรียกกันว่า ‘เช็คเครดิต’ โดยสถาบันการเงินจะนำรายงานข้อมูลเครดิตนี้มาวิเคราะห์ร่วมกับปัจจัยอื่นๆ เช่น รายได้ที่แน่นอน ค่าใช้จ่ายต่อเดือน อายุการทำงาน นโยบายเฉพาะของแต่ละสถาบัน ประมวลผลเป็นภาพรวมว่าเหมาะสมที่จะปล่อยกู้ให้กับบุคคลนั้นได้หรือไม่ และได้ในอัตราเท่าไรลูกค้าจึงจะสามารถชำระหนี้ขั้นต่ำได้ในอนาคต

 

ประเภทของเครดิตบูโร
เมื่อมีข้อมูลทางการเงินหลายประเภทจากกลุ่มคนที่มีภาระหนี้สินแตกต่างกัน ข้อมูลจึงถูกแบ่งเป็นรายบัญชีที่มีในแต่ละสถาบันการเงินรวมไปถึงบัญชีที่มีในบริษัทสมาชิก เพื่อความสะดวกในการเช็คข้อมูลในแต่ละครั้ง โดยประเภทการจัดเก็บข้อมูลเครดิตบูโร มีอะไรบ้างนั้นไปดูกันค่ะ

1. ข้อมูลบ่งชี้ตัวตนลูกค้า
เรียกได้ว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไป โดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ
●    กรณีบุคคลธรรมดา เช่น รายละเอียดชื่อ ที่อยู่ วันเกิด สถานภาพ อาชีพ เลขบัตรประจำตัวประชาชน หรือเลขหนังสือเดินทาง
●    กรณีนิติบุคคล เช่น ชื่อบริษัทฯ สถานที่ตั้ง เลขจดทะเบียนบริษัทฯ หรือเลขผู้เสียภาษีอากร


2. ประวัติเกี่ยวกับสินเชื่อ
ข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวกับการทำสินเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นประวัติการขอสินเชื่อ ประวัติการอนุมัติสินเชื่อ การชำระหนี้สินทั้งที่ได้รับการอนุมัติ เช่น กู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ ไปจนถึงรายการชำระสินค้าหรือบริการด้วยบัตรเครดิต อีกทั้งยังมีข้อมูลอื่นๆ ได้แก่ วันที่เปิดบัญชี วันที่ชำระหนี้ และวันที่ปรับโครงสร้างหนี้
วิธีเช็คเครดิตบูโร
การเช็คเครดิตบูโรไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา นิติบุคคล หรือสถาบันการเงินก็สามารถยื่นขอได้หลายช่องทางด้วยการพัฒนาของเทคโนโลยีในยุคปัจจุบันทำให้การเรียกขอข้อมูลเครดิตบูโรสามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยตนเอง ดังนี้

2.1 ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร
วิธีนี้จะเป็นการยืนขอเช็คเครดิตบูโรด้วยตนเองแบบสามารถรอรับได้ทันทีภายใน 15 นาที โดยมีค่าบริการอยู่ที่ 100 บาท และต้องใช้เอกสารบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงเท่านั้น ซึ่งศูนย์ตรวจเครดิตบูโรในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยจะเปิดให้บริการในวันและเวลาที่แตกต่างกัน มีอยู่ 3 แห่ง ได้แก่
●    ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร อาคาร เดอะไนน์ ทาวเวอร์ส แกรนด์ พระรามเก้า ชั้น 2 (อยู่ในโซนพลาซ่า)
●    ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร สถานีรถไฟฟ้า BTS ศาลาแดง (อยู่ในสถานี)
●    ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร ห้างเจ-เวนิว (นวนคร) ชั้น 1

2.2 เคาน์เตอร์ธนาคารตัวแทนรับคำขอ
วิธีนี้สามารถยื่นคำขอตรวจเครดิตบูโรได้โดยผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารทั่วประเทศที่เป็นตัวแทนของ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ในการรับเรื่องขอตรวจเครดิตบูโรรวมไปถึงรับชำระค่าตรวจสอบอีกด้วย แต่จะสามารถทำได้เฉพาะกรณีบุคคลธรรมดา ซึ่งจะได้รับรายงานข้อมูลเครดิตทางไปรษณีย์ภายในระยะเวลา 7 วันทำการ โดยจะสามารถยื่นขอได้ที่ธนาคารกรุงไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารกรุงศรี ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

2.3 ตู้คีออส (Kiosk) ตรวจเครดิตบูโร
สำหรับวิธีนี้สามารถใช้บริการตู้ตรวจเครดิตบูโร หรือ ตู้คีออส เพื่อรับรายงานทางอีเมลได้ทันที โดยข้อมูลที่ต้องเตรียมคือ บัตรประชาชนตัวจริง เบอร์โทรศัพท์ และอีเมล ซึ่งจะมีค่าบริการเช่นกัน โดยตู้จะถูกตั้งอยู่ตามจุดต่างๆ ได้แก่
●    ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร อาคาร เดอะไนน์ ทาวเวอร์ส แกรนด์ พระรามเก้า ชั้น 2 (อยู่ในโซนพลาซ่า) 
●    เครดิตบูโรคาเฟ่ อาคารเพิร์ล แบงก์ค็อก ชั้น 3 (BTS สถานีอารีย์ ทางออก 1)
●    ศูนย์ตรวจเครดิตบูโร ห้างเจ-เวนิว (นวนคร) ชั้น 1
●    สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (สถานีกลางบางซื่อ)
●    ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (สำนักงานใหญ่) อาคารเคเคพีทาวเวอร์ ชั้น 1 
●    อาคารสาธรนครทาวเวอร์ ชั้น 1 โซนตู้เอทีเอ็ม (BTS ช่องนนทรี ทางออก2)
●    ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย (อาคาร A) ชั้น 2

2.4 ผ่านแอปพลิเคชัน 
สามารถยื่นขอรายงานข้อมูลเครดิตได้ง่ายๆ ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (NCB e-Credit Report) ที่ส่งผ่านอีเมล จากการทำรายการผ่านแอปพลิเคชันผู้ให้บริการดังนี้
●    แอปพลิเคชัน Mobile Banking ของธนาคารตัวแทนอย่างเช่น ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร หรืออื่นๆ
●    แอปพลิเคชันเป๋าตัง
●    แอปพลิเคชัน Flash Express
●    แอปพลิเคชัน SME D BANK


 

ทำอย่างไร ให้ขอสินเชื่อผ่าน
หากจำเป็นต้องขอสินเชื่อไม่ว่าจะเป็นประเภทไหนก็แล้วแต่ สถาบันการเงินนั้นๆ จำเป็นจะต้องเช็คเครดิตบูโรก่อนเสมอเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาร่วมกับข้อมูลอื่น แต่เมื่อเช็คเครดิตบูโรแล้วกลับพบ บัญชีค้างชำระ แล้วทำอย่างไรให้ขอสินเชื่อผ่าน มีดังนี้ 


1.   ติดต่อสถาบันการเงินที่เรามีประวัติการขอสินเชื่อ ณ ปัจจุบัน และทำการชำระหนี้คงค้างให้หมดเสียก่อนหรือทำการปิดบัญชี อีกทางเลือกที่สามารถทำได้คือเจรจาต่อรองขอลดหย่อนหนี้จะเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ เพื่อให้สามารถชำระหนี้คงค้างได้
2.   สร้างประวัติสินเชื่อใหม่ หรือเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองในการชำระหนี้ โดยต้องชำระหนี้ให้ตรงเวลาที่สุด เช็คเครดิตบูโรเป็นระยะทำให้เราสามารถวางแผนเส้นทางการเงินได้อย่างมีวินัย


สรุป
หากต้องการเส้นทางการเงินที่ราบรื่นไร้ปัญหา ควรมีวินัยในการใช้เงินที่ต้องจัดลำดับความสำคัญให้เป็นสัดส่วนอย่างเหมาะสม หมั่นทำบัญชีรายรับรายจ่ายเพื่อประเมินความสามารถในการใช้จ่ายของตนเองอยู่เสมอ หรือแม้แต่การสร้างประวัติสินเชื่อที่ไม่ควรผิดนัดสัญญาการชำระหนี้ถือเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือ เพราะเราทราบกันไปแล้วว่าข้อมูลเครดิตหรือเครดิตบูโรเป็นปัจจัยหนึ่งที่สถาบันการเงินต่างๆ นำมาใช้ในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ ดังนั้น ควรสร้างประวัติที่ดีไว้เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเองในอนาคตค่ะ

คำถาม&ตอบ
หากมีประวัติค้างชำระ สามารถขอสินเชื่อได้ไหม
ก่อนอื่นเลยต้องทำความเข้าใจก่อนว่า บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ไม่มีส่วนในการตัดสินใจในการอนุมัติสินเชื่อ แต่เป็นสถาบันการเงินที่จะนำรายงานข้อมูลเครดิตไปประกอบการพิจารณาร่วมกับข้อมูลอื่นๆ เช่น อัตรารายได้ ความสามารถในการชำระหนี้ หรือเกณฑ์การพิจารณาเฉพาะของสถาบันการเงินนั้นๆ อีกทั้งข้อมูลเครดิตที่แสดงในระบบจะมีแค่ ปกติ หรือ ค้างชำระ สถาบันการเงินอาจอนุมัติสินเชื่อหรือไม่อนุมัติสินเชื่อก็ได้ แต่หากอนุมัติสินเชื่ออาจจะได้ในอัตราที่น้อยกว่าที่เราต้องการ ซึ่งนั่นก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของสถาบันการเงินด้วย หรือหากถูกปฏิเสธสินเชื่อ เราก็สามารถเช็คเครดิตบูโรเพื่อประกอบการขอสินเชื่ออีกครั้งได้ค่ะ

ข้อมูลเครดิตจัดเก็บอย่างไร และเก็บไว้ในระบบนานเท่าใด
หลังจากมีการชำระหนี้คงค้างจนยอดเป็นศูนย์หรือแสดงสถานะปิดบัญชี รายงานข้อมูลจะถูกจัดเก็บอยู่ในระบบไปอีก 3 ปี ข้อมูลบัญชีนั้นจึงจะถูกลบออก แต่หากอยู่ในสถานะค้างชำระ เกิน 90 วัน โดยไม่มีการเคลื่อนไหว สถาบันการเงินจะส่งข้อมูลเครดิตอีกเรื่อยๆ เป็นระยะเวลา 5 ปี และเครดิตบูโรจะเก็บข้อมูลต่อจากนั้นอีก 3 ปีค่ะ


ถ้าข้อมูลเครดิตไม่ถูกต้องสามารถทำอย่างไรได้บ้าง
เมื่อเช็คเครดิตบูโรแล้วมีข้อมูลที่ผิดพลาดต้องแจ้งกับสถาบันการเงินต้นทางให้ตรวจสอบข้อมูลอีกครั้ง หลังจากนั้นหากได้ข้อมูลใหม่แล้วยังคงไม่เห็นด้วยกับผลการตรวจสอบและได้รับข้อโต้แย้งที่หาบทสรุปไม่ได้ สามารถยื่นอุทธรณ์ข้อโต้แย้งต่อคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิตได้ ภายใน 60 วัน


สามารถขอแก้ไขหรือลบประวัติการชำระหนี้ได้ไหม
สามารถทำได้หากพบว่าข้อมูลในระบบไม่ตรงกับข้อเท็จจริง โดยทำการยื่นตรวจสอบข้อมูลเครดิตได้ที่บริษัทข้อมูลเครดิตและสถาบันการเงินต้นทางค่ะ


ทำไมประวัติการค้างชำระยังคงอยู่ในรายงานข้อมูลเครดิต
รายงานต่างๆ ที่ถูกส่งมาจากสถาบันการเงินจะไม่สามารถแก้ไขได้ เมื่อมีการค้างชำระในเดือนนั้นๆ รายงานจะแสดงสถานะค้างชำระในเดือนนั้น เมื่อมีการชำระหนี้แล้วจะมีข้อมูลใหม่ขึ้นมาอีกว่าชำระเรียบร้อยหรือปิดบัญชีแล้ว โดยจะไม่ใช้การขึ้นแทนที่หรือข้อมูลเก่าถูกลบออก ซึ่งข้อมูลเครดิตจะถูกลบได้ก็ต่อเมื่อครบเวลาการจัดเก็บ 3 ปีเท่านั้น
 

อ้างอิง
https://www.ncb.co.th