แชร์ 10 กลยุทธ์กลโกงของมิจฉาชีพที่ควรรู้

ในยุคดิจิทัลที่ทุกอย่างเชื่อมต่อกันผ่านโลกออนไลน์ กลับกลายเป็นช่องทางให้เหล่ามิจฉาชีพได้ฉวยโอกาส หาวิธีการหลอกลวงที่ชาญฉลาดและแยบยลมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อหลอกเอาเงินและข้อมูลสำคัญจากเหยื่อที่ใช้โซเชียลออนไลน์ ผ่านการทำธุรกรรมต่างๆ หรือแม้แต่การซื้อของออนไลน์ ก็อาจจะไม่ปลอดภัยอีกต่อไปแล้ว ในบทความนี้ เราจึงได้รวบรวมเอา 10 กลยุทธ์กลโกงของมิจฉาชีพออนไลน์ที่ควรรู้ พร้อมวิธีป้องกันปัญหาอย่างถูกต้อง
10 กลยุทธ์กลโกงของมิจฉาชีพที่ใช้หลอกลวงเหยื่อบนโลกออนไลน์
เพื่อไม่ให้ทุกคนต้องตกเป็นเหยื่อของภัยทางออนไลน์ เราจึงจะมาเปิดโปง 10 กลโกงของมิจฉาชีพออนไลน์กันว่าจะมาในรูปแบบใดบ้าง เพื่อให้สามารถรู้ได้อย่างเท่าทัน
• อ้างตัวเป็นหน่วยงานราชการหรือเจ้าหน้าที่ธนาคาร
มิจฉาชีพมักปลอมแปลงอีเมลหรือเบอร์โทรศัพท์ให้เหมือนหน่วยงานราชการหรือเจ้าหน้าที่สถาบันการเงินต่างๆ เพื่อหลอกลวงให้ทำธุรกรรมทางการเงินหรือเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว แล้วหลอกขอข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลหลังบัตรประชาชน หรือ รหัส OTP ที่ส่งผ่านเบอร์โทรศัพท์ เมื่อได้ข้อมูลแล้วก็จะนำไปสร้างเป็นบัญชีม้าเพื่อรับโอนเงินจากการกระทำความผิด รวมถึงขโมยเงินจากบัญชีของเหยื่อด้วย
• คอลเซ็นเตอร์ (Call Center)
คอลเซ็นเตอร์ (Call Center) เป็นมิจฉาชีพรูปแบบหนึ่งที่จะมาในรูปแบบของการโทรศัพท์หาเหยื่อก่อน โดยใช้การ Spoofing เพื่อปลอมแปลงเบอร์โทรศัพท์ให้เหมือนกับเบอร์โทรศัพท์ของหน่วยงานจริงหรือบุคคลใกล้ตัวของเหยื่อ เพื่อหลอกลวงให้เหยื่อทำธุรกรรมทางการเงินหรือเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว จากนั้นก็จะถูกหลอกให้โอนเงิน ผ่านการแอบอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยอ้างว่าเหยื่อมีความผิดทางกฎหมาย เช่น มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีฟอกเงิน คดีความต่างๆ ที่ผิดกฎหมาย จนเหยื่อหลงเชื่อ จากนั้นจึงมีการข่มขู่ให้เหยื่อทำการโอนเงินให้มิจฉาชีพเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ แต่มิจฉาชีพจะใช้โอกาสนี้ทำการหลอกเอาเงินจากบัญชีของเหยื่อจนหมด
หลอกขายของออนไลน์
อีกหนึ่งรูปแบบกลโกงที่หลายคนโดนกันมากที่สุดก็คือ การหลอกขายของออนไลน์ ซึ่งมิจฉาชีพมักจะทำการปลอมแปลงโปรไฟล์ เอารูปคนอื่นมาแอบอ้างแล้วโพสต์ขายสินค้า จากนั้นก็จะไม่ส่งสินค้าตามที่ตกลง เมื่อเหยื่อได้ทำการโอนเงินให้แล้วก็จะบล็อกหนีหรือปิดบัญชีทันที หรือบางกรณีก็จะส่งสินค้าไม่ให้ แต่เป็นสินค้าที่ไม่ตรงปก หรือเป็นของที่ไม่ได้สั่งซื้อ
• หลอกให้ลงทุน
มิจฉาชีพจะหลอกลวงให้คุณลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่น่าเชื่อถือ เช่น หุ้น ทองคำ เงินดิจิทัล ลงทุนแชร์ลูกโซ่ หรือลงทุนในธุรกิจต่างๆ ที่ไม่มีตัวตน แต่กลับให้ผลตอบแทนสูงเกินจริง ซึ่งในช่วงแรกมิจฉาชีพจะทำการโอนเงินมาจริง แต่เป็นเงินจำนวนไม่มาก เพื่อสร้างความเชื่อใจให้กับเหยื่อ เมื่อเหยื่อหลงเชื่อ ก็จะร่วมลงทุนด้วยจริงๆ เป็นจำนวนเงินที่เพิ่มสูงขึ้น สุดท้ายมิจฉาชีพก็จะไม่ให้ผลตอบแทนตามที่ตกลงไว้และหายไปในที่สุด
• สร้างบัญชี Social Media ปลอม
มิจฉาชีพจะทำการสร้างบัญชีปลอมบน Social Media ขึ้นมา โดยลักลอบและแอบอ้างเป็นบุคคลที่เหยื่อรู้จัก เพื่อหลอกยืมเงิน รวมถึงการแฮ็กบัญชี โดยใช้บัญชีที่คนรู้จักของเหยื่อใช้ประจำ เพื่อทำให้แนบเนียน แล้วใช้คำพูดหรือสรรพนามที่คุ้นเคยคุยกับเหยื่อ ทำให้เหยื่อหลงเชื่อและโอนเงินให้มิจฉาชีพทันที โดยมิจฉาชีพก็จะส่งช่องทางการโอนเงินเป็น QR CODE แล้วอ้างว่าชื่อบัญชีเป็นของพ่อ แม่ หรือบัญชีของร้านค้า
• ส่งลิงก์ปลอมเพื่อหลอกเอาข้อมูลส่วนตัว
มิจฉาชีพมักจะทำการส่ง SMS หลอกลวงให้ทำธุรกรรมทางการเงิน เปิดเผยข้อมูลส่วนตัว หรือติดตั้งแอปพลิเคชันที่เป็นอันตราย โดยใช้ข้อความชวนเชื่อ เช่น คุณได้รับสิทธิ์กู้เงิน มีบุคคลโอนเงินให้คุณ พร้อมกับส่งลิงก์แนบมา เมื่อเราคลิกเข้าไป มิจฉาชีพก็จะแฮ็กข้อมูลต่างๆ ในโทรศัพท์ รวมถึงบัญชี Mobile Banking ของเหยื่อด้วย
• ประกาศรับสมัครงานที่ต่างประเทศ แล้วบังคับให้ทำงานผิดกฎหมาย
มิจฉาชีพจะสร้างโฆษณาชักจูง ชวนให้เหยื่อไปทำงานที่ต่างประเทศ โดยอ้างว่าให้ค่าตอบแทนสูงและมีสวัสดิการต่างๆ ให้ หลังจากนั้นก็จะบังคับให้ทำงานผิดกฎหมาย ใช้แรงงาน รวมถึงยังอาจถูกทำร้ายร่างกายหรือล่วงละเมิดทางเพศได้ และก็จะขู่เข็ญเพื่อไม่ให้เหยื่อหนีกลับ
• หลอกลวงสร้างบัญชีม้า หรือการยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีธนาคาร
มิจฉาชีพจะทำการหลอกให้เหยื่อนำบัญชีธนาคารของตนเอง หรือเปิดบัญชีใหม่ สำหรับการทำธุรกรรมทางการเงินแบบผิดกฎหมาย เช่น หลอกเอาเงินผู้อื่น หรือฟอกเงิน ซึ่งมีความผิดทางกฎหมายโทษฐานร่วมกันกระทำผิดฐานฉ้อโกงประชาชนและฟอกเงิน
• หลอกให้รักแล้วโอนเงินหรือชักชวนลงทุน (Romance Scam/Hybrid Scam)
มิจฉาชีพจะมาในรูปแบบของการสร้างความเชื่อใจ หลอกให้หลงรักและถูกหลอกให้โอนเงินจากความเสน่หา (Romance Scam) โดยมักหาเหยื่อจากแอพหาคู่ และอีกรูปแบบคือ หลอกให้หลงรักและเชื่อใจ จากนั้นจะชักชวนให้ลงทุน หรือที่เรียกว่า Hybrid Scam ซึ่งจะหลอกให้เหยื่อลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เช่น Forex หรือทองคำ ซึ่งต้องลงทุนเป็นเงินจำนวนมาก
• กู้เงินออนไลน์
มิจฉาชีพจะสร้างโปรไฟล์ปล่อยกู้ โดยอ้างว่าคิดอัตราดอกเบี้ยถูก ผ่อนจ่ายระยะยาวได้ แต่หลังจากที่เหยื่อทำสัญญาแล้ว ก็ไม่ได้ทำการโอนเงินตามที่ตกลง หรือในบางกรณีอาจให้เหยื่อโอนเงินให้มิจฉาชีพก่อนเพื่อเป็นการมัดจำ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้รับเงินจริง
วิธีป้องกันตัวเองจากมิจฉาชีพออนไลน์
• ระมัดระวังกับลิงก์และอีเมลที่น่าสงสัย
อย่าคลิกที่ลิงก์หรือดาวน์โหลดไฟล์แนบจากอีเมลที่ไม่รู้จัก ตรวจสอบที่อยู่อีเมลของผู้ส่งให้แน่ใจว่าเป็นแหล่งที่มาที่เชื่อถือได้ หรือจะใช้วิธีเลื่อนเมาส์เหนือลิงก์เพื่อดู URL จริงก่อนคลิกก็ได้เช่นกัน นอกจากนี้ หากมีเบอร์แปลกโทรมา ควรตรวจสอบเบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อเข้ามาอย่างละเอียด และอย่าเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว เช่น รหัสผ่าน เลขบัญชีธนาคาร ข้อมูลหลังบัตรประชาชน หรือรหัส OTP
• สร้างรหัสผ่านที่ปลอดภัย
ไม่ว่าจะเป็นบัญชีธนาคาร รหัสผ่านโซเชียลมีเดีย หรือแม้แต่รหัสโทรศัพท์ ควรใช้รหัสผ่านที่ยาวและซับซ้อนอย่างน้อย 12 ตัวอักษร ใช้ทั้งตัวอักษร ตัวเลข และสัญลักษณ์ และใช้รหัสผ่านที่แตกต่างกันสำหรับแต่ละบัญชี รวมถึงหลีกเลี่ยงการใช้ข้อมูลส่วนตัว เช่น วันเกิด หรือชื่อสัตว์เลี้ยง ในรหัสผ่าน
• ระวังการแชร์ข้อมูลส่วนตัวบนโลกออนไลน์
หลีกเลี่ยงการแชร์ข้อมูลส่วนตัว เช่น หมายเลขหลังบัตรประชาชน หรือรหัสบัตรเครดิตบนโซเชียลมีเดีย รวมทั้งตรวจสอบนโยบายความเป็นส่วนตัวของเว็บไซต์ที่ใช้งานเป็นประจำเพื่อเพิ่มความปลอดภัย
• ซื้อสินค้าจากเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือ
เลือกซื้อสินค้าที่มีบริการเก็บเงินปลายทาง หรือขอเช็คเครดิตร้านค้า ด้วยการขอชื่อบัญชีเพื่อนำไปตรวจสอบบัญชีดำบนอินเทอร์เน็ต รวมถึงควรเลือกร้านออนไลน์ที่มีความน่าเชื่อถือ มีรีวิวการสั่งซื้อจากลูกค้าท่านอื่นจริง
• ติดตามข่าวสารและอัปเดตความรู้อยู่เสมอ
เพราะมิจฉาชีพออนไลน์ มักมีกลยุทธ์ใหม่ๆ มาทำให้เราเป็นเหยื่อเสมอ ดังนั้น ควรติดตามข่าวสารและอัปเดตความรู้เกี่ยวกับกลโกงของมิจฉาชีพออนไลน์ พร้อมเรียนรู้วิธีสังเกตสัญญาณเตือนภัยของการหลอกลวง
หากถูกหลอกให้โอนเงิน ควรทำอย่างไร?
หากคุณเผลอโอนเงินให้มิจฉาชีพไปแล้ว อย่าเพิ่งตื่นตระหนก เพราะมีวิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้องโดยสามารถทำได้ตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. รวบรวมหลักฐาน : เก็บหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต เช่น ข้อความสนทนา หลักฐานการโอนเงิน รูปภาพสินค้า รวมถึงข้อมูลของมิจฉาชีพ เป็นต้น
2. แจ้งความ : ลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ โดยนำหลักฐานที่รวบรวมไว้ไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ
3. แจ้งธนาคาร : แจ้งธนาคารต้นทางเพื่ออายัดบัญชีทันที ป้องกันการถูกโอนเงินไปยังบัญชีอื่น
สรุป
ภัยคุกคามทางไซเบอร์มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ดังนั้น การตระหนักถึงกลยุทธ์โกงของมิจฉาชีพ พร้อมทั้งมีการป้องกันและการแก้ปัญหาอย่างเหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมออนไลน์ที่ปลอดภัย หากพบเห็นพฤติกรรมที่น่าสงสัย ให้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที
คำถาม&ตอบ
• จะรู้ได้อย่างไรว่าข้อมูลส่วนตัวถูกขโมยหรือไม่?
เมื่อข้อมูลส่วนตัวของเรากำลังถูกขโมยหรือเกิดความผิดปกติ จะได้รับการแจ้งเตือนจากธนาคารหรือบริการต่างๆ ที่ไม่ได้สมัคร รวมทั้งอาจมีการสั่งซื้อสินค้า หรือโอนเงินทั้งๆ ที่เราไม่ได้กด รวมทั้งได้รับข้อความที่น่าสงสัยด้วย
• หากได้รับอีเมลหรือข้อความที่น่าสงสัย ควรทำอย่างไร?
ไม่คลิกลิงก์หรือเปิดไฟล์แนบจากผู้ส่งที่ไม่รู้จัก รวมทั้งตรวจสอบที่มาของอีเมลหรือข้อความให้แน่ชัด
• หากมีเพื่อนหรือคนรู้จักทักมายืมเงินควรทำอย่างไรจึงจะปลอดภัย?
ควรโทรสอบถามให้แน่ชัด เพราะเจ้าของบัญชีอาจถูกมิจฉาชีพปลอมแปลง หรือถูกแฮ็กข้อมูลได้
• ฟิชชิง (Phishing), แฮ็กกิ้ง (Hacking) และ สแกม (Scam) ต่างกันอย่างไร?
- ฟิชชิง (Phishing) เป็นการส่งอีเมลหรือข้อความที่ดูเหมือนมาจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อขอข้อมูลส่วนตัวหรือรหัสผ่าน
- แฮ็กกิ้ง (Hacking) เป็นการเข้าถึงบัญชีของผู้ใช้งานโดยไม่ได้รับอนุญาต แล้วนำบัญชีไปหลอกลวงผู้อื่น
- สแกม (Scam) คือการหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ต ด้วยการสร้างความเชื่อใจกับเหยื่อแล้วหลอกเอาเงิน
• สามารถตรวจสอบข้อมูลมิจฉาชีพออนไลน์จากเว็บไซต์ใดได้บ้าง?
เว็บไซต์ของหน่วยงานราชการ เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI), สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ เว็บไซต์ป้องกันภัยออนไลน์เช่น ThaiCERT, Google Safe Browsing
• ทำไมฟิชชิ่ง (Phishing) จึงเป็นภัยที่ควรระวัง?
ฟิชชิ่ง (Phishing) เป็นอีกหนึ่งมิจฉาชีพออนไลน์ที่ร้ายแรง เนื่องจากเป็นวิธีที่มิจฉาชีพสามารถขโมยข้อมูลส่วนบุคคลหรือข้อมูลการเงินของเหยื่อได้โดยตรง ซึ่งอาจนำไปสู่การขโมยทรัพย์สินได้
Recent Posts
View All