แยกเงินส่วนตัว กับ เงินธุรกิจให้ชัดเจน กุญแจสำคัญสู่ความมั่งคั่งที่พ่อค้าแม่ค้าไม่ควรมองข้าม

Category ความรู้ด้านการเงิน
แยกเงินส่วนตัว กับ เงินธุรกิจให้ชัดเจน กุญแจสำคัญสู่ความมั่งคั่งที่พ่อค้าแม่ค้าไม่ควรมองข้าม
26 มิถุนายน 2568
แยกเงินส่วนตัว กับ เงินธุรกิจให้ชัดเจน กุญแจสำคัญสู่ความมั่งคั่งที่พ่อค้าแม่ค้าไม่ควรมองข้าม

ในโลกของผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ หรือเจ้าของกิจการขนาดเล็ก หนึ่งในความผิดพลาดทางการเงินที่พบบ่อยที่สุดคือ การไม่แยกเงินส่วนตัวออกจากเงินธุรกิจ  

หลายคนเริ่มจากธุรกิจเล็ก ๆ พ่อค้าแม่ค้า เจ้าของกิจการ หรือฟรีแลนซ์ ใช้เงินส่วนตัวลงทุน ซื้อของ  และเมื่อลูกค้าโอนเงินเข้ามา ก็เข้าบัญชีเดียวกับที่ใช้จ่ายส่วนตัว ผลที่ตามมาคือความสับสน ไม่รู้ว่าเงินที่เหลือจริง ๆ คือกำไร หรือแค่เงินหมุนไปหมุนมา

แม้จะดูเป็นเรื่องเล็ก แต่การไม่แยกเงินให้ชัดเจนกลับเป็นเหมือน เส้นบาง ๆ ที่ขวางทางความมั่งคั่ง หรือกับดักทางการเงิน ที่ฉุดรั้งศักยภาพของธุรกิจ และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้กิจการหลายแห่งไปไม่ถึงความมั่นคงในระยะยาว

1. ทำไมการแยกเงินส่วนตัวกับเงินธุรกิจจึงสำคัญ?

1.1 เห็นภาพรวมทางการเงินชัดเจน

เพราะเมื่อมีการแยกบัญชีเงินส่วนตัวกับเงินธุรกิจ จะช่วยให้คุณรู้แน่ชัดว่า รายได้จากงานเข้ามาเท่าไหร่? ต้นทุนในการทำงานมีอะไรบ้าง? รายจ่ายส่วนตัวเดือนละเท่าไหร่? เมื่อข้อมูลชัดเจนแล้ว คุณก็สามารถวางแผนการใช้เงินได้อย่างมีระบบมากขึ้น  

1.2 เห็นกำไรที่แท้จริง

การแยกเงินจะทำให้เจ้าของธุรกิจสามารถวิเคราะห์ได้ว่า ธุรกิจมีกำไรหรือขาดทุนจริงหรือไม่ ไม่ใช่แค่เห็นเงินเข้าบัญชี แล้วจะแปลว่าได้กำไร สิ่งนี้มีผลต่อการตั้งราคาค่าบริการ และการประเมินว่า “งานนี้คุ้มเวลาหรือไม่?”

1.3 วางแผนการเงินในอนาคตได้อย่างแม่นยำ

เมื่อเห็นตัวเลขที่แท้จริง ว่าได้กำไรสุทธิเท่าไหร่ต่อเดือน คุณก็จะสามารถตั้งเป้าหมายทางการเงินได้แม่นยำ และตัดสินใจเรื่องการแบ่งเงินไปลงทุน ขยายร้าน เพิ่มสินค้า หรือปรับปรุงการตลาดได้อย่างมั่นใจ และมีเงินเก็บเป็นเงินสำรองฉุกเฉินได้

1.4. ช่วยเรื่องภาษี จัดการง่าย ไม่เสี่ยงโดนตรวจสอบ

ถ้าบัญชีธุรกิจกับบัญชีส่วนตัวแยกชัดเจน คุณจะสามารถ คำนวณภาษีได้ถูกต้อง รวดเร็ว เตรียมเอกสารยื่นภาษีได้ง่ายขึ้น ลดความเสี่ยงในการถูกประเมินย้อนหลังหรือเสียค่าปรับ

1.5 ลดความเสี่ยงในการใช้เงินผิดประเภท

หลายครั้งที่เจ้าของธุรกิจเผลอใช้เงินกำไรไปกับค่าใช้จ่ายส่วนตัว เช่น ซื้อของฟุ่มเฟือย เที่ยวเล่น หรือใช้หนี้ส่วนตัว ซึ่งอาจกระทบสภาพคล่องของธุรกิจอย่างรุนแรง

1.6 เพิ่มความน่าเชื่อถือหากต้องการขอสินเชื่อ

ธนาคารและนักลงทุนจะให้ความสำคัญกับบัญชีธุรกิจที่มีความชัดเจน โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ การมีระบบเงินที่แยกกันจะเป็นข้อได้เปรียบอย่างมาก

1.7 สร้างวินัยทางการเงินอย่างแท้จริง

พอคุณรู้ว่า “อันไหนคือเงินส่วนตัว อันไหนคือเงินธุรกิจ” พฤติกรรมใช้จ่ายก็จะเปลี่ยนไปทันที! คุณจะใช้จ่ายอย่างมีสติ มีเหตุผลกับการใช้เงินแต่ละก้อน และมองเงินเป็นเครื่องมือในการต่อยอดเพื่อประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่แค่อารมณ์ชั่ววูบ


2. ปัญหาที่เกิดจากการไม่แยกเงินส่วนตัว กับ เงินธุรกิจ

2.1 เผลอใช้เงินเกินตัว  

เพราะเมื่อไม่มีการจัดการเงิน ทำให้ไม่เห็นภาพรวมทางการเงินที่ชัดเจน  ไม่รู้ว่ากำไรหรือขาดทุนจากธุรกิจเท่าไหร่ จนอาจเผลอใช้จ่ายเงินเกินตัว

2.2 การบริหารจัดการที่ยุ่งเหยิง

เมื่อรายได้-รายจ่ายส่วนตัวและธุรกิจอยู่รวมกัน จะทำให้การตรวจสอบบัญชียากลำบาก เสียเวลาตามหาเอกสารและข้อมูลสำคัญ

2.3 เสียโอกาสทางภาษี

หากไม่มีการแยกบัญชีอย่างชัดเจน อาจเกิดการคำนวณภาษีผิดพลาด  เสี่ยงต่อการโดนประเมินย้อนหลังและเสียค่าปรับ หรือเสียโอกาสในการหักค่าใช้จ่ายที่สามารถลดหย่อนภาษีได้

2.4 ทำให้ธุรกิจไม่เติบโต

เพราะไม่มีข้อมูลสำหรับกำหนดราคาสินค้า/ค่าบริการที่เหมาะสม ลดโอกาสการสร้างรายได้ และผลกำไร  อีกทั้งอาจเกิดปัญหาไม่มีเงินสะสมเป็นทุนหมุนเวียนในกิจการได้ เพราะถูกดึงไปใช้ในชีวิตประจำวันหมด ส่งผลให้ธุรกิจไม่มีเงินสำรองสำหรับการขยายตัว

2.5 ความเครียดในการบริหารการเงิน

เนื่องจากไม่รู้แน่ชัดว่าเงินหมุนเวียนเพียงพอต่อการใช้จ่ายหรือไม่ หลายคนมีปัญหาขัดแย้งกับคนในครอบครัว เพราะไม่สามารถแยกแยะเงินของใครเป็นของใคร โดยเฉพาะในครอบครัวที่ทำธุรกิจร่วมกัน
 


3. แนวทางพื้นฐานในการแยกเงินส่วนตัวกับเงินธุรกิจอย่างเป็นระบบ

3.1 แยกบัญชีธนาคาร “ส่วนตัว” และ “ธุรกิจ”

เพราะจะช่วยให้คุณเห็นชัดเจนว่าเงินที่เข้ามาเป็น “รายได้จากธุรกิจ” เท่าไหร่ และคุณใช้จ่ายอะไรไปกับ “ชีวิตประจำวัน” เท่าไหร่ แค่แยกบัญชี ก็เหมือนคุณได้ผู้ช่วยจัดระเบียบเงินส่วนตัวไปแล้วครึ่งหนึ่ง!

เช่น เปิดบัญชีธนาคารใหม่ 1 บัญชี เพื่อใช้รับรายได้จากธุรกิจ และจ่ายเฉพาะค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการทำงานเท่านั้น ส่วนบัญชีเดิมให้ใช้สำหรับใช้จ่ายส่วนตัวตามปกติ เมื่อบัญชีไม่ปะปนกัน คุณจะสามารถวิเคราะห์ผลประกอบการได้ชัดเจนขึ้น และแยกแยะเงินที่สามารถใช้หรือลงทุนต่อได้อย่างถูกต้อง

3.2 จดบันทึกรายรับให้ครบทุกแหล่ง

ไม่ว่าจะได้เงินจากแหล่งไหน ควรบันทึกไว้ทั้งหมด ทั้งรายได้จากงานประจำ /

งานฟรีแลนซ์ รายได้เสริม เช่น ขายของออนไลน์ รายได้จากดอกเบี้ย เงินปันผล ฯลฯ และอย่าลืมแนบหลักฐาน เช่น  สลิปโอนเงิน ใบเสร็จ / ใบกำกับภาษี (ถ้ามี) บันทึกชื่อผู้จ่าย รายละเอียดงาน และวันที่รับเงิน เพื่อเก็บหลักฐานไว้เผื่อใช้คำนวณภาษี และเช็กย้อนหลัง

3.3 บันทึกรายจ่ายทั้งส่วนตัว และธุรกิจ

ทุกค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ควรจดบันทึกไว้ แต่อย่ารวมกัน โดยให้ “แยกหมวดหมู่” ชัดเจนว่า “รายจ่ายไหนจำเป็น รายจ่ายไหนลดได้” เช่น

  • ค่าใช้จ่ายส่วนตัว เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าบ้าน ค่ามือถือ
  • ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับงาน  เช่น ค่าวัสดุ / อุปกรณ์ ค่าเช่าที่ / ค่าโฆษณาออนไลน์ / ค่าขนส่ง  
  • ค่าสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน เช่น ค่าเดินทางเพื่อไปพบลูกค้า

 

สรุปบทความ

การแยกบัญชีรายรับรายจ่ายระหว่าง "บัญชีส่วนตัว" กับ "บัญชีที่ใช้ทำธุรกิจ" เป็นหนึ่งในพื้นฐานสำคัญที่ควรทำตั้งแต่วันแรกที่เริ่มรับรายได้ เพราะถ้าคุณยังใช้บัญชีเดียวกันหมด ทั้งรายจ่ายกินอยู่ประจำวัน และค่าใช้จ่ายในการทำงาน คุณกำลังพาตัวเองเข้าใกล้ปัญหาการเงินโดยไม่รู้ตัว!  
ดังนั้น หากคุณต้องการให้ธุรกิจเติบโตอย่างมั่นคง อย่ารอให้เกิดปัญหาแล้วค่อยจัดการ เริ่มต้นด้วยวินัยทางการเงินที่ดี แยกเงินให้ชัดเจนตั้งแต่วันนี้ แล้วจะพบว่าความมั่งคั่งอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม  

 

อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.set.or.th/th/education-research/education/happymoney/knowledge/article/115-tsi-business-personal-accounts-management-tips 
https://www.tcg.or.th/article_inside.php?article_id=248